วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระพุทธเจ้าหมายถึงใคร


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้า เป็นพระสมัญญานามที่ใช้เรียกพระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานต่างนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาของตนเหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ฝ่ายเถรวาทให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันคือ "พระโคตมพุทธเจ้า" ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระองค์ที่ 4 ในภัทรกัปนี้ และมีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีตกับในอนาคตบ้างแต่ไม่ให้ความสำคัญเท่า ฝ่ายมหายานนับถือพระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาททั้งหมดและเชื่อว่านอกจากพระพุทธเจ้า 28 พระองค์[1] ที่ระบุในพุทธวงศ์ของพระไตรปิฎกภาษาบาลีแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากมายเพิ่มเติมขึ้นมาจากตำนานของเถรวาท

กรรมในความหมายตามหลักพระพุทธศาสนา

กรรมในความหมายตามหลักพุทธศาสนา
          คำว่า  กรรม”  แปลว่า  การกระทำ   มีความหมายเป็นกลาง ๆ   คือ  การกระทำ   ยังไม่ถือว่าดีหรือชั่ว   กรรมเป็นกฎแห่งสาเหตุเกี่ยวกับศีลธรรม  คำว่า  การกระทำ”   (กรรม)  หมายถึงการกระทำทุกอย่างที่แสดงออกจากตัวเรา   เช่น  การแสดงออกทางกาย (กายกรรม)  ทางวาจา (วจีกรรม)   และทางใจ (มโนกรรม)
          โดยหลักมูลฐานแล้ว  กรรมก็คือ เจตนา  ดังคำนิยามศัพท์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า  เจตนาหํ  ภิกฺขเว  วทามิ  เจตยิตวา  กโรติ   กาเยน  วาจาย   มนสา”   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราขอบอกว่า  เจตนาคือกรรม  (เป็นตัวกรรม)   เมื่อมีเจตนาแล้ว  คนเราก็ลงมือกระทำการด้วยกาย  วาจา   และด้วยใจ   หมายความว่า  การกระทำที่จะเป็นกรรมได้นั้น   จะต้องมีเจตนา   คือ  ความตั้งใจ  จงใจ   แล้วกระทำการลงไปโดยใช้เครื่องมือ  คือ  กาย  วาจา และใจ 
          หลักคำสอนเรื่องกรรม  นับว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของพุทธศาสนา  ซึ่งทำให้พุทธศาสนาแตกต่างไปจากลัทธิศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิศาสนาประเภทเทวนิยมซึ่งคำสอนเรื่องกรรมของลัทธิศาสนาประเภทเทวนิยม  สอนให้คนเรามอบกายถวายชีวิตของตนไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก  เช่น  ความเป็นไปของชีวิตจะต้องขึ้นอยู่กับพระเจ้า   พระองค์จะเป็นผู้ลิขิตชีวิตของสรรพสัตว์ให้เป็นไป   ที่เรียกกันว่า  พรหมลิขิต”   เป็นต้น   แต่พุทธศาสนากลับปฏิเสธอำนาจของสิ่งภายนอกทั้งหมด   แต่สอนให้เชื่ออำนาจของผลกรรมของตนเองว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ   และเป็นสิ่งจำแนกสรรพสัตว์ให้แตกต่างกัน  หรือเรียกกันว่า  กรรมลิขิต